วันจันทร์, กรกฎาคม 21, 2551

ย่อ จุฬาฯ กวาดเรียบแชมป์โลกหุ่นยนต์สองรายการ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา มีข่าวน่ายินดีถึงสองเรื่อง

คือเมื่อช่วงเที่ยงตามเวลาในประเทศไทย ทีมพลาสมาอาร์เอกซ์ (Plasma-RX) ตัวแทนประเทศไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำคะแนนสูงสุดในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย RoboCupRescue จากการแข่งขัน RoboCup 2008 ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากนั้นไม่นานช่วงบ่ายสามโมงตามเวลาในประเทศไทย ทีมพลาสมาซี (Plasma-Z) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกเช่นกัน สามารถเอาชนะทีมซีเอ็มดรากอน (CMDragon) จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ด้วยสกอร์ 4 ประตูต่อ 2 ในการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล RoboCupSoccer จากการแข่งขันรายการเดียวกัน สร้างข่าวดีให้กับประเทศไทยเป็นคำรบที่สอง

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยนั้นเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ค้นหาผู้ประสบภัยในซากปรักหักพัง หรือสถานที่ที่เข้าถึงได้ยากโดยมนุษย์ การให้คะแนนนั้นให้ตามจำนวนของผู้ประสบภัยที่หุ่นยนต์พบ และความสามารถในการเก็บรายละเอียดของผู้ประสบภัยที่พบด้วย ประเทศไทยส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้มา 4 ปีแล้ว และในปีนี้ทีมพลาสมาอาร์เอกซ์ สามารถคว้าแชมป์ให้กับประเทศไทยได้เป็นสมัยที่ 3 หลังจากทีม อินดีเพนเดนท์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้ถึง 2 สมัย ในปีที่ผ่าน ๆ มา โดยปีนี้หุ่นยนต์นั้นถูกสร้างให้เป็นแบบกึ่งอัตโนมัติถึง 3 ตัว ที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้ และสามารถเปลี่ยนไปบังคับด้วยมือแบบเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสในการค้นหาผู้ประสบภัยในตำแหน่งต่างกันได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลนั้น กติกาคล้ายกับการแข่งขันของมนุษย์ เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า ทุกระบบควบคุมแบบอัตโนมัติเท่านั้น ประเทศไทยส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้มาถึง 6 ปี แม้ยังไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับแชมป์โลก แต่ก็สามารถเข้าถึงรอบลึกขึ้นเรื่อย ๆ ได้ จนได้แข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับทีมซีเอ็มดรากอน จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทีมีชื่อเสียงด้างหุ่นยนต์ ถึงขนาดต้องต่อเวลา และสุดท้ายดวลจุดโทษ ทีมพลาสมาซี พลาดโอกาสในครั้งนั้นได้ครองเพียงตำแหน่งรองแชมป์ในปีที่แล้ว ในปีนี้หุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้ทีมสามารถล้างแค้นทีมซีเอ็มดรากอนไปได้ในเวลาด้วยสกอร์ 4-2 นอกจากนี้แล้วทีมสกูบา (SKUBA) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถครองตำแหน่งอันดับที่สามในรายการนี้ได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้สามารถยืนยันได้ว่าหุ่นยนต์จากประเทศไทยนั้น มีประสิทธิภาพคับแก้วจริง ๆ

อนึ่งรายการแข่งขันหุ่นยนต์ RoboCup 2008 เป็นรายการแข่งขันหุ่นยนต์รายการใหญ่ของโลกถือเป็นโอลิมปิกประจำปีในวงการหุ่นยนต์เลยทีเดียว เนื่องจากมีทีมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่งแข่งจากทั่วทุกมุมโลก และมีการแข่งขันหุ่นยนต์ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์เตะฟุตบอล หรือหุ่นยนต์ภายในบ้าน

ลิงก์ของโพสต์นี้ | มีคอมเมนต์แล้ว 0 คอมเมนต์Œ

มีคอมเมนต์แล้ว” 0 คอมเมนต์:

กรุณาฝากคอมเมนต์เพื่อให้กำลังใจš

<< Home